
กินอะไรถึงสูงเร็ว รวม 10 อาหารเพิ่มความสูงสำหรับเด็กวัยกำลังโต
โดยส่วนใหญ่แล้วเด็กอายุ 6 - 12 ปี ที่เป็นวัยกำลังโตจะมีส่วนสูงเพิ่มขึ้น 5 - 10 เซนติเมตรต่อปี พัฒนาการด้านความสูงของเด็ก ๆ ในช่วงนี้ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ได้แก่
- พันธุกรรมจากคุณพ่อคุณแม่
- การทำงานของฮอร์โมนต่าง ๆ ในร่างกาย เช่น โกรทฮอร์โมน (Growth Hormone), ไทรอยด์ฮอร์โมน (Thyroid Hormone) และ ฮอร์โมนเพศ (Sex Hormone)
- สิ่งแวดล้อม
- รูปแบบการใช้ชีวิต เช่น การออกกำลังกาย การนอนหลับให้เพียงพอ รวมถึงภาวะโภชนาการที่สารอาหารมีผลอย่างมากต่อการเติบโตด้านความสูงของเด็กในวัยนี้
เด็กจะเติบโตได้ดีต้องได้รับสารอาหารที่ครบ 5 หมู่และเพียงพอ โดยเฉพาะกับลูก ๆ วัยซนที่ทั้งสนุกกับการเล่นกีฬา และทำกิจกรรมต่าง ๆ หากคุณพ่อคุณแม่อยากอยากให้ลูกสูง อยากรู้ว่าลูกควรกินอะไรถึงสูงเร็ว เพื่อให้พวกเขามีความสูงที่เหมาะสมกับช่วงวัย วันนี้เราจะพาไปทำความรู้จักกับอาหารเพิ่มความสูงทั้ง 10 อย่างกันค่ะ

อาหารเพิ่มความสูงสำหรับลูกวัยกำลังโต จำเป็นต้องมี โปรตีน แคลเซียม วิตามิน D, C, B แมกนีเซียม และโพแทสเซียม เป็นส่วนประกอบ
1. ไข่ไก่
ไข่ไก่ 1 ฟองมีโปรตีนมากถึง 6 กรัม มีวิตามินและแร่ธาตุที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโต นอกจากนี้ ไข่ไก่ยังมีวิตามินดี ที่ช่วยให้ร่างกายของลูก ๆ ดูดซึมแคลเซียมได้ดียิ่งขึ้น ทำให้มวลกระดูกมีความแข็งแรง และยังสามารถนำมาทำเป็นเมนูโปรดของเด็ก ๆ ได้หลากหลาย เช่น ไข่เจียวหมูสับ และไข่ตุ๋นทรงเครื่อง เป็นต้น
2. เนื้อไก่
อาหารเพิ่มความสูงที่มีแหล่งโปรตีนชั้นดีที่หาได้ง่าย พร้อมสารอาหารที่จำเป็นอื่น ๆ และยังมีวิตามินบี 12 และทอรีน (Taurine) เป็นกรดอะมิโนที่ควบคุมการสร้างและการเติบโตของมวลกระดูก ช่วยให้ลูกสูงขึ้นได้
3. นม
มีความสำคัญต่อสุขภาพกระดูก และมีแร่ธาตุแคลเซียม ฟอสฟอรัส แมกนีเซียม และวิตามินดี ที่จำเป็นต่อการเติบโตของเด็ก ๆ ในนม 1 แก้วนั้น (240 ml) อุดมไปด้วยโปรตีนถึง 8 กรัม และงานวิจัยชี้ว่านมวัวมีส่วนช่วยเพิ่มน้ำหนัก และเสริมสร้างมวลกล้ามเนื้อของลูกให้แข็งแรง อีกทั้งยังเป็นอาหารเพิ่มความสูงอีกด้วย (เรียนรู้เรื่อง ประโยชน์ของโปรตีน เพิ่มเติมได้ที่นี่) แต่หากเด็ก ๆ คนไหนที่มีอาการแพ้นมวัว ควรเปลี่ยนเป็นการดื่มนมจากถั่ว อย่างนมถั่วเหลือง หรือนมอัลมอนด์แทนค่ะ
4. ผักใบเขียว
เช่น ผักโขม ผักเคล ผักคะน้า และกะหล่ำปลี เป็นแหล่งของวิตามินซี แคลเซียม ธาตุเหล็ก แมกนีเซียม และโพแทสเซียม ที่มีอยู่ในปริมาณมาก รวมถึงวิตามินเค ที่ช่วยเสริมความหนาแน่นให้มวลกระดูกเพื่อเตรียมพร้อมรับการเติบโตและความสูงที่เพิ่มขึ้นนั่นเอง
5. ถั่ว
อาหารเพิ่มความสูงที่มีโปรตีน ธาตุเหล็ก และวิตามินบีสูง ช่วยป้องกันภาวะโลหิตจาง และเสริมพัฒนาการของเนื้อเยื่อในร่างกาย ทำให้ลูก ๆ เติบโตอย่างสมวัย
6. โยเกิร์ต
เป็นแหล่งรวมสารอาหารที่สำคัญหลากหลายชนิด รวมทั้งโปรตีน และแคลเซียม โดยกรีกโยเกิร์ต (Greek Yogurt) เพียง 7 ออนซ์ (200 กรัม) มีโปรตีนสูงถึง 20 กรัม และโยเกิร์ตบางชนิดยังช่วยในเรื่องสุขภาพของลำไส้ เนื่องจากมีโปรไบโอติก (Probiotics) ซึ่งเป็นแบคทีเรียที่มีประโยชน์ และเพื่อให้ลูกได้รับสารที่ครบถ้วนมากขึ้น เราขอแนะนำให้คุณแม่เติมน้ำผึ้ง ผลไม้ หรือธัญพืชลงไปด้วยนะคะ เรียนรู้เรื่องแคลเซียมและ ประโยชน์ของแคลเซียม เพิ่มเติมได้ที่นี่
7. ควินัว
มีแมกนีเซียม ซึ่งเป็นส่วนประกอบที่สำคัญ ช่วยเพิ่มความหนาแน่นของเนื้อเยื่อกระดูก
8. เบอร์รี่
อาหารเพิ่มความสูงที่อุดมไปด้วยวิตามินซี ช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโตของเซลล์และซ่อมแซมเนื้อเยื่อ เพิ่มการสังเคราะห์คอลลาเจน (Collagen) ซึ่งเป็นโปรตีนที่มีมากที่สุดในร่างกาย มีด้วยกันหลากหลายชนิด ได้แก่ บลูเบอร์รี่ สตรอเบอร์รี่ แบล็กเบอร์รี่ และราสเบอร์รี่ คุณแม่สามารถเลือกซื้อได้ตามความชอบของเด็ก ๆ เลยนะคะ
9. ปลาแซลมอน ทูน่า และปลาดุก
เป็นปลาที่เต็มไปด้วยกรดไขมันโอเมก้า 3 (Omega-3 Fatty Acid) ซึ่งดีต่อหัวใจของลูกรัก และการเติบโตของกระดูก หากลูกเบื่อการกินเนื้อสัตว์ประเภทอื่น ๆ เนื้อปลาก็เป็นอีกเมนูที่ย่อยง่ายและทำให้อร่อยได้ไม่แพ้กันค่ะ
10. เนื้อหมู และเนื้อวัว (เนื้อแดง)
อาหารเพิ่มความสูงที่มีโปรตีนสูง และธาตุเหล็กที่ช่วยป้องกันภาวะโลหิตจางซึ่งมีผลต่อการเจริญเติบโตของร่างกาย แต่เราขอแนะนำให้ทานในปริมาณที่พอเหมาะ เนื่องจากในเนื้อแดงมีระดับไขมันอิ่มตัวที่สูง
เด็กแต่ละวัยควรมีความสูงเท่าไหร่?
คุณพ่อคุณแม่หลายท่านอาจสงสัยว่า ลูกของเราสูงตามเกณฑ์หรือเปล่า? ซึ่งเด็กแต่ละวัยมีช่วงความสูงเฉลี่ยที่แตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับปัจจัยทางพันธุกรรม โภชนาการ การออกกำลังกาย และการนอนหลับ
ตารางความสูงเฉลี่ยของเด็กไทย
อายุ |
ส่วนสูงเพศชาย (ซ.ม.) |
ส่วนสูงเพศหญิง (ซ.ม.) |
1 ปี |
71 – 79 |
68 – 78 |
2 ปี |
81 - 92 |
79 – 91 |
3 ปี |
88 – 101 |
86 – 100 |
4 ปี |
95 – 110 |
93 – 108 |
5 ปี |
103 – 117 |
99 – 115 |
6 ปี |
106 – 124 |
105 – 122 |
7 ปี |
112 – 130 |
110 – 129 |
8 ปี |
117 – 135 |
115 – 135 |
9 ปี |
121 – 141 |
120 – 141 |
10 ปี |
125 – 146 |
125 – 148 |
11 ปี |
129 – 153 |
130 – 155 |
12 ปี |
134 – 160 |
135 – 160 |
13 ปี |
139 – 168 |
140 – 162 |
14 ปี |
145 – 173 |
144 – 165 |
15 ปี |
152 – 176 |
146 – 165 |
16 ปี |
157 – 178 |
147 – 166 |
17 ปี |
159 – 180 |
149 – 167 |
ที่มา : สำนักโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข
ช่วงอายุที่เหมาะสมที่สุดที่จะเร่งเพิ่มความสูง ก่อนมวลกระดูกปิด
‘ช่วงสูงไว’ หรือ ช่วงอายุที่เหมาะสมที่สุดที่จะเร่งพัฒนาการทางร่างกาย ซึ่งเป็นช่วงของการยืดของกระดูก
- เด็กผู้ชาย : เริ่มต้นที่อายุประมาณ 11 ปี และสามารถสูงได้มากที่สุดที่อายุ 13 ปี
- เด็กผู้หญิง : เริ่มเร็วกว่าที่อายุประมาณ 9-10 ปี และมีอัตราการเพิ่มความสูงสูงสุดที่อายุ 11 ปีในช่วงวัยก่อนมีประจำเดือน โดยสูงขึ้นเฉลี่ย 8 เซนติเมตรต่อปี และจะสูงขึ้นช้าลงเมื่อมีประจำเดือน
เข้าใจแผ่นปิดปลายกระดูก (Epiphyseal plate)
แผ่นปิดปลายกระดูก (Epiphyseal plate) เป็นกระดูกอ่อนบริเวณปลายกระดูกยาวที่ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางการเจริญเติบโต เมื่อแผ่นนี้ปิดสมบูรณ์ที่อายุประมาณ 15-16 ปีในเพศหญิง และ 18-20 ปีในเพศชาย การเพิ่มความสูงจะหยุดลง
การเข้าใจช่วงโอกาสทองของการเพิ่มความสูงและกลไกการทำงานของแผ่นปิดปลายกระดูกจะช่วยให้พ่อแม่และผู้ปกครองสามารถวางแผนส่งเสริมการเจริญเติบโตได้อย่างมีประสิทธิภาพ การผสมผสานระหว่างโภชนาการที่เหมาะสม การออกกำลังกาย และการพักผ่อนที่เพียงพอจะช่วยให้เด็กเติบโตได้อย่างเต็มศักยภาพ
ตอบทุกคำถามคาใจของคุณแม่ “ให้ลูกกินอะไรถึงสูงเร็ว?” นอกจากการเลือกสิ่งดี ๆ อย่างอาหารที่มีประโยชน์ให้ลูกทานแล้ว ยังสามารถเติมพลัง เสริมโภชนาการให้ลูกด้วยอาหารว่าง สุขภาพ หรือเครื่องดื่มช็อกโกแลตมอลต์ไมโล UHT อร่อย มีประโยชน์ และอย่าลืมส่งเสริมเด็ก ๆ ออกกำลังกาย เล่นกีฬาเป็นประจำ เพื่อเพิ่มความแข็งแรงให้กล้ามเนื้อ รู้สึกสดชื่น และมีอารมณ์ที่สดใสตามวัยด้วยนะคะ
เขียนโดย นางสาวเบญจมาศ บุญสืมมา, นักวิทยาศาสตร์การกีฬา การกีฬาแห่งประเทศไทย
เอกสารอ้างอิง
- https://www.healthline.com/nutrition/foods-that-make-you-taller#3.-Almonds
- http://realmetro.com/11-foods-that-make-you-taller/
- https://www.nestle.co.th/th/nhw/3e/eat/smart-eating-increase-child-height