เลี้ยงลูกอย่างไรให้มีความใจสู้ ‘Resilience (RQ) ทักษะการฝึกใจให้แข็งแกร่ง’ ฝึกได้ด้วยการเล่นกีฬา (ตอนที่ 2) เลี้ยงลูกอย่างไรให้มีความใจสู้ ‘Resilience (RQ) ทักษะการฝึกใจให้แข็งแกร่ง’ ฝึกได้ด้วยการเล่นกีฬา (ตอนที่ 2)

เลี้ยงลูกอย่างไรให้มีความใจสู้ ‘Resilience (RQ) ทักษะการฝึกใจให้แข็งแกร่ง’ ฝึกได้ด้วยการเล่นกีฬา (ตอนที่ 2)

ในช่วงเวลาที่โลกหมุนไปอย่างรวดเร็ว การใช้ชีวิตของเราในแต่ละวันหรือการเจริญเติบโตของมนุษย์ในแต่ละช่วงอาจได้รับผลกระทบและอิทธิพลจากความท้าทายใหม่ๆ และการเปลี่ยนแปลงที่ไม่คาดคิด หากเป็นผลกระทบเชิงบวกก็ถือว่าเป็นรางวัลที่ดีต่อใจ แต่ในกรณีที่เป็นผลกระทบเชิงลบ เช่น ความผิดพลาด ความผิดหวัง ความเสียใจ หรือแม้กระทั่งการสูญเสีย คำถามที่ตามมาคือ เราจะก้าวข้ามผ่านมันได้อย่างไร?

คำตอบสำหรับคำถามที่ว่าก็คือ ‘ทักษะการฝึกใจให้แข็งแกร่ง Resilience (RQ)’ แล้ว Resilience คืออะไร? Resilience (RQ) เป็นหนึ่งในทักษะชีวิตหรือ Life Skill ที่ไม่ว่าคนเจเนอเรชั่นไหน อายุเท่าไหร่ ก็จำเป็นต้องเรียนรู้ ฝึกฝน และนำไปประยุกต์ในทุกช่วงตอนของชีวิต ที่สำคัญคือพ่อแม่หรือผู้ปกครองสามารถเริ่มสอนลูกได้ตั้งแต่ยังเด็ก เพราะการฝึกใจให้แข็งแกร่ง (Resilience) จะช่วยเติมเต็มความเชื่อมั่นในพลังและความสามารถของเจ้าตัวเล็ก จนสามารถผ่านเรื่องราวต่างๆ ไปได้ด้วยตัวเอง และเอาตัวรอดได้เป็นอย่างดี

ไมโล มีโอกาสได้พูดคุยกับ อ.ดร.กุลวดี ทองไพบูลย์ หรือ อาจารย์เอ๋ คุณแม่ลูกสองและนักจิตวิทยาคลินิก จบปริญญาโทด้านจิตวิทยาการปรึกษา (วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต) จากมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ และปริญญาเอกด้านจิตวิทยา (ดุษฎีบัณฑิต) จากสถาบัน The Wright Institute, Berkeley ประเทศสหรัฐอเมริกา

เลี้ยงลูกอย่างไรให้มีความใจสู้1

อาจารย์เอ๋ จะมาแชร์ความรู้และมุมมองเกี่ยวกับความสำคัญของทักษะการฝึกใจให้แข็งแกร่ง หรือ Resilience ทั้งในฐานะ ‘นักจิตวิทยาคลินิก’ ผู้เชี่ยวชาญด้านการบำบัดและการศึกษา และในฐานะ ‘แม่’ ผู้มีประสบการณ์เลี้ยงลูกโดยตรง

ตามไปค้นหาคำตอบพร้อมๆ กันเลยว่า ทำไมพ่อแม่ควรปลูกฝัง Resilience ให้ลูกตั้งแต่ยังเล็ก วิธีสอนลูกให้ใจสู้ผ่านการเล่นกีฬา รวมถึงคำแนะนำสำหรับพ่อแม่พัฒนาทักษะการฝึกใจให้แข็งแกร่งให้ลูก

BUILDING RESILIENCE IN CHILDREN

วิธีสอนลูกให้แข็งแกร่ง ปลูกฝัง ‘ความใจสู้’ ตั้งแต่เด็ก

ความหมายของคำว่า Resilience ตามพจนานุกรมแปลว่า ‘ความสามารถของปัจเจกบุคคลในการหวนคืนสู่ความสุขภาพดี ความสุข หรือความแข็งแรงอีกครั้ง หลังจากอาการเจ็บไข้ได้ป่วย ความผิดหวัง หรือปัญหาอื่นๆ’

แต่ในฐานะนักจิตวิทยา อาจารย์เอ๋ได้ให้คำนิยามทักษะการฝึกใจให้แข็งแกร่ง หรือ Resilience ไว้ว่า Advancing Despite Adversity ที่แปลว่า ก้าวไปข้างหน้าได้แม้จะเจอความยากลำบาก

Advancing ก็คือไปข้างหน้า ถ้าเรามองว่า Resilience คือ การฟื้นกลับขึ้นมาอยู่ในสถานะที่เราเคยเป็น Advancing เป็นมากกว่านั้น คือการก้าวไปข้างหน้าอีกด้วย ต่อมาคือ Despite ต้องมีความ Proactive หรือต้องเริ่มก่อนที่รู้ว่าจะต้องเริ่ม เพราะว่า Resilience มันเป็นทักษะที่สร้างได้ เรียนรู้ได้ เราไม่จำเป็นที่จะต้องรอให้เกิด Adversity ความยากลำบากหรืออุปสรรคอะไรมาเกิดขึ้นกับเราก่อน

ชอบ 3 คำนี้ที่สุด เพราะมันสื่อให้เรารู้ได้ว่า Resilience คือ ทักษะที่เราสามารถเรียนรู้ได้ก่อนที่จะเกิดปัญหาหรืออุปสรรคขึ้นเสียอีก แล้วมันจะพาเราไปข้างหน้าต่อได้ด้วย”

อุปสรรคและปัญหาต่างๆ ไม่ได้เลือกว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ เกิดขึ้นกับใคร หรือเกิดขึ้นในช่วงใดช่วงหนึ่งที่เฉพาะเจาะจงในชีวิต การปลูกฝังทักษะการฝึกใจให้แข็งแกร่ง Resilience (RQ) หรือสอนลูกให้ใจสู้ตั้งแต่เด็กๆ จึงเป็นเรื่องสำคัญที่พ่อแม่และผู้ปกครองไม่ควรปล่อยปละละเลย

เลี้ยงลูกอย่างไรให้มีความใจสู้2

 

“ทักษะการฝึกใจให้แข็งแกร่ง Resilience เป็นทักษะที่ค่อยๆ สร้างขึ้นมา ฝึกได้ตั้งแต่เด็กๆ และเป็นทักษะที่ใช้ร่วมได้กับหลายอย่าง ไม่ว่าจะมีบาดแผลทางใจ (Trauma) หรือไม่ก็ตาม ซึ่งในคำว่า Resilience มันประกอบไปด้วยหลายๆ มิติ”

Resilience ไม่ใช่ทักษะเดี่ยวๆ ที่ปลูกฝังหรือสอนลูกได้แบบเป็นเอกเทศ แต่ทักษะการฝึกใจให้แข็งแกร่งจะเกิดขึ้นได้ก็ต้องอาศัยความพร้อมในการพัฒนา Soft Skills ด้านอื่นๆ ควบคู่กันไปด้วย อาจารย์เอ๋จึงยก 6 องค์ประกอบของทักษะ Resilience (The 6 Domains of Resilience) มาอธิบายให้เห็นภาพ โดยอ้างอิงจาก Hello Driven ผู้เชี่ยวชาญและโค้ชด้าน Resilience เพื่อสุขภาพกายและใจที่ดี

“ทักษะ Resilience สามารถแบ่งได้ตาม 6 องค์ประกอบนี้ ซึ่งรู้สึกว่าครอบคลุมและสามารถนำไปเสริมสร้างทักษะให้ลูกๆ ได้ ถ้าลูกเราขาดด้านไหน ก็ไปเสริมส่วนนั้นได้ค่ะ”

6 องค์ประกอบที่ว่านั้นได้แก่ วิสัยทัศน์ (Vision) ภาวะอารมณ์ (Composure) การใช้เหตุผล (Reasoning) สุขภาพ (Health) การยืนหยัด (Tenacity) และการร่วมมือกัน (Collaboration)

เลี้ยงลูกอย่างไรให้มีความใจสู้3

 

เครดิต: ข้อมูลจากบทความ The 6 Domains Of Resilience โดย Jurie Rossouw บนเว็บไซต์ Driven

1. สอนลูกให้มี “วิสัยทัศน์

“เริ่มกันที่ วิสัยทัศน์ (Vision) หรือการตั้งเป้าหมาย (Goal Setting) สามารถส่งเสริมได้ตั้งแต่เล็กๆ เลย อย่างในเด็กก่อนวัยเรียน (Pre-school) ก็มีความเข้าใจและพอจะบอกความต้องการของตัวเองได้แล้ว ซึ่งพ่อแม่สามารถส่งเสริม กระตุ้น หรือชวนตั้งเป้าหมายให้ทำอะไรให้สำเร็จ

2. สอนลูกให้รู้จักจัดการอารมณ์ตัวเอง

ต่อมาคือ การจัดการกับอารมณ์ (Composure) คือ เด็กเล็กๆ ถ้าไม่ได้ดั่งใจ ถูกขัดใจ ก็จะร้องงอแงบ้าง น้องๆ เด็กๆ อาจยังจัดการกับอารมณ์ตัวเองได้ไม่ดีทำให้บางครั้งอาจเกิดพฤติกรรมคล้ายเด็กก้าวร้าว พ่อแม่ก็ต้องช่วยเสริมสร้าง ช่วยแนะนำทักษะการจัดการกับอารมณ์ให้ลูกได้ค่ะ

3. สอนลูกให้รู้จักใช้เหตุผลในการดำเนินชีวิต

ถัดมาคือ การใช้เหตุผล (Reasoning) คือ การแก้ปัญหา (Problem Solving) และการปรับตัวตามสถานการณ์ต่างๆ (Adaptability) ซึ่งพ่อแม่สามารถฝึกเด็กๆ ได้ พ่อแม่ควรปล่อยให้ลูกได้มีอุปสรรค ได้ล้มบ้าง แต่ก็ต้องดูแลในฐานะพ่อแม่ ไม่ปล่อยเด็กให้เผชิญทุกอย่างด้วยตัวเองหรือเจอความเสี่ยงมากเกินไป เปิดโอกาสให้ลูกได้เรียนรู้ว่ามนุษย์ทุกคนผิดพลาดได้

4. สอนลูกให้ใส่ใจเรื่องสุขภาพ

สำหรับ สุขภาพ (Health) ก็เป็นพื้นฐานเลยนะคะ การกิน การนอน ถ้าเด็กร่างกายแข็งแรง ก็จะส่งผลต่อสุขภาพใจด้วย และพร้อมที่จะเรียนรู้อะไรมากขึ้นด้วย

5. สอนลูกให้ยืนหยัดไม่ย่อท้อ

ในส่วนของ การยืนหยัดไม่ย้อท้อ (Tenacity) จะเป็นเรื่องของการ Bounce Back ที่มากกว่าการลุกกลับมาอยู่ที่เดิม แต่คือการก้าวต่อไปข้างหน้าได้ด้วย

6. สอนลูกให้รู้จักการร่วมมือกับผู้อื่น

สุดท้ายคือ การร่วมมือกัน (Collaboration) ที่มองว่าสำคัญมากค่ะ การปลูกฝัง Resilience ควรมีทักษะในการสร้างและรักษาความสัมพันธ์กับผู้อื่น อาจจะ Stay Connected กับผู้อื่นในสังคมด้วยการช่วยเหลือ บริจาค แบ่งปัน ให้ได้เชื่อมโยงกับผู้อื่นอยู่เสมอ”

เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับทักษะ Resilience ในแบบฉบับ PR6 (Predictive 6 Factor Resilience Model) ได้ที่เว็บไซต์ Driven

RAISE RESILIENT KIDS THROUGH SPORTS

ฝึกใจให้แข็งแกร่งผ่านการเล่นกีฬา

แล้วจะสอนทักษะการฝึกใจให้แข็งแกร่ง Resilience (RQ) ให้ลูกด้วยวิธีไหน? ต้องเลี้ยงลูกยังไงให้มีความใจสู้? หนึ่งในวิธีสอนลูกที่เน้นการลงมือทำและเห็นผลได้จริงคือ การเล่นกีฬา

เลี้ยงลูกอย่างไรให้มีความใจสู้4

 

“ที่บอกว่ากีฬาเป็นบริบทที่ดีสำหรับสอนลูก เพราะมันมีเรื่องของความพ่ายแพ้เข้ามาเกี่ยวข้องค่ะ เมื่อแพ้แล้วเราจะไปต่อได้ยังไง ก็จะเป็นโอกาสให้เด็กได้ใช้ทักษะต่างๆ คือ ถ้าแพ้แล้วอารมณ์มา ท้อแท้ เศร้า เสียใจ เราก็ต้องดึงทักษะการจัดการกับอารมณ์ (Composure) ออกมาใช้ หรือทักษะตั้งเป้าหมาย (Goal Setting) ในการเล่นกีฬา เช่น ต้องการจะไปถึงจุดไหน อยากทำเวลาได้เท่าไหร่ ทำได้กี่ครั้ง มันก็จะมีทั้งเป้าหมายระยะสั้น เป้าหมายระยะกลาง เป้าหมายระยะยาว

และสำหรับเด็กๆ ที่ไม่ถนัดด้านการเล่นกีฬา การได้เล่นกีฬาก็เป็นความเสี่ยงที่น่าจะพอรับได้ ลูกเขาอาจรู้สึกว่าไม่อยากทำ ไม่อยากเล่น แต่ก็เป็นโอกาสให้ลูกได้ลองอะไรใหม่ๆ ซึ่งโอกาสที่จะเฟลในสนามก็จะเอื้อให้เด็กๆ ได้ฝึกทักษะ Resilience เช่นกัน”

ความใจสู้นั้นผูกพันกับการเล่นกีฬามาแต่ไหนแต่ไร ตั้งแต่เรื่องราวของการแพ้ชนะ น้ำใจนักกีฬา หรือการอดทนฝึกฝน ไม่ว่าจะเล่นเพื่อความสนุก เพื่อลงแข่งในสนามมือสมัครเล่น หรือเพื่อไต่ระดับไปเรื่อยๆ จนถึงจุดสูงสุดอย่างโอลิมปิก

งานวิจัยของ ดร. Mustafa Sarkar รองศาสตราจารย์ด้านกีฬาและจิตวิทยาการกีฬา (Sport and Performance Psychology) จาก Nottingham Trent University ประเทศอังกฤษ ได้ศึกษาเกี่ยวกับ Mental Resilience ในนักกีฬาที่ได้เหรียญโอลิมปิก (ชาย 8 คน หญิง 4 คน) และพบว่า ‘ความใจสู้’ นั้นสำคัญมากๆ ต่อความสำเร็จที่เกิดขึ้น

หลังจากการสัมภาษณ์นักกีฬาโอลิมปิกทั้ง 12 คน ดร. Mustafa Sarkar ได้สรุปและรวบรวมวิธีสร้าง Resilience เอาไว้ว่า การตัดสินใจ คือ สิ่งที่เลือกเองไม่ใช่การเสียสละ เปลี่ยนความล้มเหลวให้เป็นโอกาสในการเจริญเติบโต และอย่าโทษคนอื่น ต้องมีความรับผิดชอบต่อความคิด ความรู้สึก หรือพฤติกรรมของตัวเอง

“ทักษะ Resilience มีตัวอย่างให้เห็นในนักกีฬาหลายคน เช่น Michael Jordan นักบาสเกตบอล NBA ที่เคยถูกตราหน้าว่าไม่มีทักษะมากพอจะเป็นนักกีฬาอาชีพ หรือนักกีฬาไทยอย่าง คุณแอ้ม-สักกาวิช นิ่มมา นักฟุตบอลอาชีพ ปราการหลังแห่งสโมสรราชนาวี พวกเขาไม่ย่อท้อ พยายามฝึกฝนตัวเอง จนในที่สุดก็ได้เป็นนักกีฬามืออาชีพ หรืออย่างน้องเทนนิส นักเทควันโดหญิงทีมชาติไทย ก็เคยแพ้มาก่อนที่จะได้เหรียญทองโอลิมปิก 2020

ถ้าเกิดเราแพ้แล้วเราไม่ลุก เราก็จมอยู่ตรงนั้น มันก็จะอยู่แค่นั้น เพราะฉะนั้นนักกีฬาก็ต้องฝึกทักษะ Resilience เพราะมันก็จะต้องมีโมเมนต์ที่คุณแพ้ แต่คุณก็ต้องลุกขึ้นมาให้ได้ แล้วก็ไปต่อค่ะ”

เลี้ยงลูกอย่างไรให้มีความใจสู้5

 

“กีฬาสอนอะไรเราหลายอย่างมาก สอนในเรื่องของน้ำใจนักกีฬา รู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัย เราโดนสอนกันมาตั้งแต่เด็กๆ แต่ก็ไม่ได้เข้าใจจริงๆ ว่ามันคืออะไร

ถ้าย้อนเวลากลับไปได้ ก็อยากให้ครูสอนพละไม่ได้พูดเพียงการเล่นกีฬาทำให้เรารู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัย แต่เสริมสร้างทักษะในการรู้แพ้ รู้ชนะ และรู้อภัยซึ่งก็คือ Resilience Skills เข้าไปตั้งแต่ตอนเด็กๆ เลย

กีฬานั้นเป็นพื้นที่หนึ่งที่เปิดโอกาสให้เรารู้แพ้อย่างแน่นอน แต่เมื่อแพ้แล้วเราก็ต้องรู้ที่จะให้อภัยด้วย เพื่อที่เราจะฟื้นขึ้นมาจากตรงนั้นและพร้อมที่จะก้าวไปข้างหน้าเพื่อที่จะรู้ชนะค่ะ”

PARENTING TIPS FOR RAISING RESILIENT CHILDREN

บทบาทของพ่อแม่ในการปลูกฝัง‘ทักษะการฝึกใจให้แข็งแกร่ง’ให้ลูก

1. คอยสนับสนุนและให้กำลังใจลูก

สิ่งสำคัญที่สุดในการสอนลูกเกี่ยวกับทักษะการฝึกใจให้แข็งแกร่ง หรือ Resilience (RQ) ก็คือการสนับสนุนและกำลังใจจากคนในครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นคุณพ่อ-คุณแม่ คนที่เลี้ยงดูจนเติบใหญ่มาด้วยกัน คนที่ผูกพันในระดับจิตใจ แต่ไม่ใช่ลูกอย่างเดียวที่ต้องรู้จักล้มแล้วลุก พ่อแม่เองก็เช่นกัน

เลี้ยงลูกอย่างไรให้มีความใจสู้6

 

2. ปล่อยให้ลูกเจอความท้าทายบ้าง

เมื่อเห็นลูกเจ็บปวด ผิดหวัง หรือเสียใจ หัวอกคนเป็นพ่อแม่ก็อยากเข้าไปปลอบใจ เข้าไปช่วยเหลือ สิ่งที่พ่อแม่ควรทำ คือ เว้นระยะห่าง ปล่อยให้ลูกได้ล้มบ้าง ได้เจออุปสรรคความท้าทายบ้าง ได้รู้สึกถึงความเจ็บปวดบ้าง จะเป็นวิธีการสอนลูกที่เปิดโอกาสให้ลูกเรียนรู้ที่จะฟื้นตัวเองด้วยศักยภาพของตัวเอง

“อย่างแรกเลยเมื่อเรารู้ว่าเราจะให้ลูกได้ลองทำอะไรที่มีความเสี่ยงต่อความล้มเหลว เสียใจ ท้อแท้ เราก็ต้องกะความเสี่ยงนั้นให้พอดีก่อนที่จะปล่อยให้ลูกทำ ประเมินว่าสิ่งไหนพอจะลองทำได้แล้วไม่ถึงกับเลือดตกยางออก เช่น ลองเล่นกีฬา ลองคลาสใหม่ๆ เพื่อเปิดโอกาสให้ลูกได้ลองมีประสบการณ์ เฟลบ้างอะไรบ้าง”

เลี้ยงลูกอย่างไรให้มีความใจสู้7

 

“จะมีพ่อแม่บางกลุ่มที่ใช้วิธีสอนลูกเหมือนจัดการ จัดตารางชีวิตให้ลูก อย่างเช่น Snowplow Parent ก็คือ เปรียบพ่อแม่เป็นเครื่องขุดหิมะ คือจะขุดอุปสรรคออกจากเส้นทางของลูกให้หมดเลย เหมือนเคลียร์หิมะออกไปไว้ข้างทาง จะทำให้เด็กไม่ได้เผชิญกับอุปสรรคและไม่ได้ฝึกทักษะที่เกี่ยวกับ Resilience เลย

3. ส่งเสริมลูกอย่างค่อยเป็นค่อยไป

วิธีการสอนลูกที่เหมาะสมนั้น พ่อแม่ควรส่งเสริมให้เด็กลองทำสิ่งต่างๆ ให้เด็กเริ่มทีละก้าว แต่เป็นก้าวเล็กๆ ที่สำคัญ เช่น วันนี้เด็กยังไม่อยากเล่นกีฬาเท่าไหร่ ก็อาจเริ่มจากพาเด็กไปดูสนาม ไปดูเพื่อนเล่น โน้มน้าวให้ได้เริ่มก้าว เมื่อเด็กรู้สึกโอเคเริ่มที่จะเล่น มันก็จะมีเรื่องความท้อแท้เข้ามา เล่นได้ไม่ดีเท่าเพื่อน โดนครูหรือโค้ชดุ ซึ่งการเผชิญอารมณ์พวกนี้จะสร้างความเข้มแข็งทางจิตใจที่ทำให้สามารถเดินหน้าต่อได้

พ่อแม่สามารถแสดงให้ลูกเห็นจากตรงนี้ได้ว่า คนเราผิดพลาดกันได้ และมอบความเห็นอกเห็นใจให้ลูก มองจากมุมมองความคิดของเด็กด้วยความเข้าใจ และสร้างแรงจูงใจให้เด็ก เช่น ให้รางวัล ให้คำชม รอยยิ้ม อ้อมกอด เพื่อเสริมแรงทางบวก ลองให้ลูกตั้งเป้าหมาย ทำให้ลูกเริ่มมีความมั่นใจในตัวเองมากขึ้น”

สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่กำลังอ่านบทความนี้ อาจารย์เอ๋อยากฝากเอาไว้ว่า

“ทักษะการฝึกใจให้แข็งแกร่ง หรือ Resilience (RQ) เป็นทักษะใช้ได้กับทุกคน สำหรับพ่อแม่เองก็ยิ่งมีประโยชน์ เรามักให้คำแนะนำพ่อแม่เสมอว่า เด็กไม่ได้เกิดมาพร้อมคู่มือการเลี้ยงดู คนนี้ต้องเลี้ยงวิธีไหน ปฏิบัติยังไง ความเป็นพ่อแม่มันก็ต้องมีลองผิดลองถูก เราไม่ได้สมบูรณ์แบบ มันก็ต้องมีอะไรที่พลั้งพลาดบ้าง และก็อาจก่อตัวเป็นความรู้สึกได้

เพราะฉะนั้นแล้วพ่อแม่ก็ฝึกทักษะ Resilience ได้ และสามารถเป็นแบบอย่างที่ดีให้ลูกได้เช่นกัน”

ไมโล เชื่อในการสอนลูกให้ ‘ใจสู้’ ผ่านการเล่นกีฬา เพื่อก้าวข้ามความท้าทายในทุกสนาม เป็นการเปิดโอกาสให้เด็กๆ รู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัย และลุกขึ้นสู้ใหม่อีกตั้งด้วยความสามารถและศักยภาพของตนเอง โดยมีการสนับสนุนและกำลังใจจากครอบครัว เพราะ ‘ทักษะการฝึกใจให้แข็งแกร่ง หรือ Resilience (RQ)’ มีความสำคัญต่อการเติบโตอย่างแข็งแรง มั่นคง และยั่งยืน