วิธีสังเกตว่าลูกก้าวร้าวหรือแค่แสดงจุดยืน วิธีสังเกตว่าลูกก้าวร้าวหรือแค่แสดงจุดยืน

วิธีสังเกตว่าลูกเป็น 'เด็กก้าวร้าว' หรือ 'แค่แสดงจุดยืน' พร้อมวิธีรับมือ

เมื่อลูกของเราเข้าโรงเรียนแล้ว จะเป็นช่วงวัยที่มีพัฒนาการรวดเร็วทั้งร่างกายและจิตใจไปพร้อม ๆ กัน แต่มีอีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญมาก ๆ เช่นกันสำหรับเด็กวัย 7-12 ปี คือพัฒนาการทางอารมณ์ว่าเขาเป็นอย่างไร เด็กมีอาการก้าวร้าว โมโหร้ายหรือไม่ วันนี้เราจะมาชวนคุณแม่มาลองสังเกตกันว่าลูกของเรามีพัฒนาการทางอารมณ์เป็นอย่างไรกันบ้าง

สาเหตุที่ทำให้เด็กเริ่มมีความก้าวร้าว

เมื่อเข้าสู่วัย 7-12 ปี ร่างกายมีการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างตามธรรมชาติ เด็ก ๆ เริ่มมีความเป็นตัวของตัวเอง เริ่มมีเพื่อนเป็นกลุ่ม เริ่มมีพฤติกรรมติดเกม ติดโทรศัพท์มือถือ หรือบางคนอยากโตเป็นผู้ใหญ่เร็ว ๆ โดยคุณแม่สามารถให้อิสระกับลูก ๆ ในกิจกรรมของพวกเขาได้ แต่ต้องคอยหมั่นสังเกตว่ากิจกรรมที่พวกเขาทำนั้นมีพฤติกรรมไปในทางที่สามารถนำไปสู่อารมณ์รุนแรงหรือความก้าวร้าวในอนาคตหรือไม่

5 วิธีแก้ไขพฤติกรรมก้าวร้าว ด้วยการพัฒนาทักษะทางด้านอารมณ์

1. เข้าใจอารมณ์ของลูก

อารมณ์ที่เปลี่ยนไปของลูกถือเป็นเรื่องธรรมชาติ โดยเฉพาะเวลาที่ลูกก้าวร้าว มีอารมณ์รุนแรงหรืออารมณ์โกรธจากบางเรื่อง ซึ่งวิธีแก้ไขพฤติกรรมก้าวร้าว คุณแม่สามารถบอกกับลูกด้วยคำพูดเช่นว่า “แม่เข้าใจลูกนะ” เพื่อให้ลูกใจเย็นลง และเมื่อเขาอารมณ์นิ่งขึ้น ให้เขาเลือกวิธีที่จัดการความโกรธ ของเขาด้วยตัวเอง เป็นการฝึกให้เด็กได้หัดคิดและเรียนรู้ โดยมีคุณแม่คอยเป็นที่ปรึกษาให้คำแนะนำอยู่ข้าง ๆ

2. ใช้การอธิบายด้วยเหตุผล

หากลูกก้าวร้าวหรือมีอารมณ์โกรธ โมโหร้ายและมีการแสดงออกบางอย่าง เช่น หน้าบึ้ง ร้องไห้ ถอนหายใจ เป็นต้น ลองปล่อยให้ลูกอยู่กับตัวเองจนใจเย็น สีหน้าดีขึ้น ดูสงบขึ้น แล้วค่อยเข้าไปถามความรู้สึก และเปิดโอกาสให้เขาได้เล่าถึงสิ่งที่เกิดขึ้น เพื่อที่คุณแม่จะได้มีโอกาสในการที่จะรับฟัง รวมถึงให้คำแนะนำในวิธีการแก้ไขพฤติกรรมก้าวร้าวให้ลูกได้อย่างเหมาะสม

3. ให้ทางเลือก

เมื่อลูกแสดงความเป็นตัวของตัวเอง และมีการใช้อารมณ์กับสิ่งที่กำลังทำ วิธีแก้ไขพฤติกรรมก้าวร้าว คือ ให้เบี่ยงเบนความสนใจหรือให้ทางเลือกกับเขาแทน เช่น ลูกทำการบ้านไม่เสร็จและเริ่มมีอาการหงุดหงิด คุณแม่ลองให้ทางเลือกว่าให้แม่ช่วยสอน หรือถ้าทำเสร็จคุณแม่จะชงเครื่องดื่มให้ แทนการบอกลูกว่าต้องทำให้เสร็จเท่านั้น เมื่อลูกมีทางเลือกกับการแก้ปัญหาเขาจะควบคุมอารมณ์ได้ดีขึ้น

4. สอนให้เห็นผลของการกระทำ

เมื่อลูกโมโหร้ายหรือแสดงความก้าวร้าวออกมา วิธีแก้ไขพฤติกรรมก้าวร้าว คือ ให้หลีกเลี่ยงการตำหนิด้วยถ้อยคำที่ส่งผลทางจิตใจเพิ่มขึ้น เช่น ทำไมเป็นเด็กแบบนี้ ทำไมถึงก้าวร้าวแบบนี้ จะยิ่งเพิ่มความก้าวร้าวให้กับเด็กมากขึ้น แต่ให้ใช้วิธีสอนให้เห็นว่าสิ่งที่ทำนั้นไม่ถูกต้อง เช่น ทำไมถึงขว้างของเล่น เห็นไหมว่าถ้าของเล่นพัง เราจะไม่มีเล่นต่อนะ พูดด้วยถ้อยคำที่สงบ จะทำให้เด็กยอมรับถึงการกระทำของตัวเอง 

5. เป็นแบบอย่างที่ดี

การจัดการอารมณ์หลายครั้งไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกับเด็ก แต่บางครั้งอาจจะเกิดขึ้นจากคุณแม่หรือคนใกล้ตัวเองหากมีอารมณ์โกรธ เพราะการที่เด็กก้าวร้าว มีอารมณ์รุนแรงนั้นส่วนหนึ่งอาจเกิดจากพฤติกรรมการเลียนแบบของลูก ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ควรจัดการกับอารมณ์โกรธนั้นได้ด้วย เพื่อเป็นแบบอย่างให้ลูกเห็นว่า อารมณ์โกรธและโมโหเหล่านี้สามารถแก้ไขได้โดยที่ไม่จำเป็นต้องแสดงพฤติกรรมที่ก้าวร้าวออกมา

สังเกตลูกอย่างไร ว่ามีอารมณ์รุนแรงหรือไม่ ?

1. สังเกตความร่าเริง

สังเกตว่าความร่าเริงของลูกเราลดลงหรือไม่ ดูจากการที่ลูกอาจไม่ยิ้มแย้มให้กับเราหรือคนรอบข้าง เริ่มไม่ทำในสิ่งที่ตัวเองชอบ เช่น ชอบวาดรูป ชอบเล่นดนตรี แต่กลับทำสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ลดลงไป คุณพ่อคุณแม่ควรหมั่นสังเกตพฤติกรรมของลูกเพราะสิ่งเหล่านี้อาจนำพาไปสู่พฤติกรรมกลายเป็นเด็กก้าวร้าวหรืออารมณ์รุนแรงได้

2. สังเกตการควบคุมอารมณ์

อาการแรกเริ่มของเด็กก้าวร้าวนั้นบางครั้งก็มาจากอารมณ์ของตัวเด็กเอง คุณพ่อคุณแม่ควรสังเกตว่าลูกโมโหร้ายหรือโกรธง่ายขึ้นหรือไม่ สังเกตวิธีการแสดงอารมณ์ของลูกที่เปลี่ยนไปจากการลงมือทำสิ่งต่าง ๆ ที่ยังไม่สมบูรณ์ เช่น วาดรูปไม่เสร็จ เล่นกีต้าร์ไม่จบเพลง แล้วมีการแสดงอาการหงุดหงิด หรือแสดงอารมณ์รุนแรงออกมา

3. สังเกตการเก็บตัว

สังเกตว่าลูกของเราเริ่มอยู่คนเดียวมากขึ้นหรือไม่ เช่น ดูจากการที่ลูกกลับถึงบ้านแล้วเข้าห้องทันที พูดคุยกับเราน้อยลง หรือไม่ออกไปทำกิจกรรมกับเพื่อน ๆ เป็นต้น

 

อารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงจากการเจอเหตุการณ์ต่าง ๆ สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะเด็กวัยประถมที่เป็นวัยแห่งการเรียนรู้ คุณแม่ควรเรียนรู้วิธีแก้ไขพฤติกรรมเด็กก้าวร้าวอย่างถูกต้อง และสอนให้ลูกรู้จักวิธีจัดการความโกรธและพฤติกรรมก้าวร้าว ฝึกให้เขาควบคุมอารมณ์ได้อย่างเหมาะสม เพื่อการเติบโตอย่างมีคุณภาพต่อไป