5-วิธีรับมือเด็กซน-เด็กไฮเปอร์ 5-วิธีรับมือเด็กซน-เด็กไฮเปอร์

เข้าใจ'เด็กไฮเปอร์' และรับมือด้วยกิจกรรมเสริมทักษะและพัฒนาการ

เราสามารถบอกถึงความแตกต่างของเด็กๆ ได้จากพฤติกรรม และการพัฒนาการของพวกเขา หากคุณพ่อคุณแม่ ผู้ปกครองหมั่นสังเกตพัฒนาการของลูกอย่างใกล้ชิด ซึ่งอาการที่จะกล่าวถึงในที่นี้คืออาการ ‘เด็กไฮเปอร์’

ก่อนที่จะไปทำความรู้จักอาการเด็กไฮเปอร์ มาดูความแตกต่างระหว่าง เด็กไฮเปอร์ กับ เด็กสมาธิสั้นกันก่อน เด็กไฮเปอร์ (Hyperactive Kids) และเด็กสมาธิสั้น (ADHD – Attention Deficit Hyperactive Disorder) คือสิ่งเดียวกันหรือไม่? จากบทความเรื่อง ‘สมาธิสั้นใกล้ตัวเด็กกว่าที่คิด’ ของนายแพทย์ชลภัฎ จาตุรงคกุล แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตเวชศาสตร์เด็กและวัยรุ่น โรงพยาบาลกรุงเทพ ระบุว่า ไฮเปอร์กับสมาธิสั้นนั้นต่างกัน

เด็กไฮเปอร์ไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นโรคสมาธิสั้นเสมอไป เพราะอาการของเด็กไฮเปอร์ (Hyperactive) คือ ‘อาการที่ไม่อยู่นิ่ง’ ซึ่งเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น โรคสมาธิสั้น (ADHD – Attention Deficit Hyperactive Disorder) ซึ่งเป็นเพียงสาเหตุหนึ่ง หรือเด็กอาจมี ความวิตกกังวัล (Anxiety) หรือ เด็กที่มีพัฒนาการทางระบบประสาทล่าช้า (Motor – Sensory) ไปจนถึง เด็กที่เคยได้รับความกระทบกระเทือนหรือติดเชื้อที่สมอง และเด็กที่ไฮเปอร์โดยธรรมชาติ คุณพ่อแม่ ผู้ปกครองสามารถศึกษาความแตกต่างเพิ่มเติมได้ที่บทความ สมาธิสั้นใกล้ตัวเด็กกว่าที่คิด

อย่างไรก็ตาม ด้วยความแตกต่างเพียงเล็กน้อยนี้ ทำให้เมื่อพูดถึง ‘อาการเด็กไฮเปอร์’ รวมๆ ในภาษาที่เข้าใจร่วมกันอาจหมายถึง อาการที่เด็กอยู่ไม่นิ่ง ซุกซน อยู่ในสภาพนิ่งเฉยได้ไม่นาน วอกแวกง่าย หรือมีอาการหุนหันพลันแล่น เป็นต้น แล้วคุณพ่อคุณแม่จะรับมือกับเด็กไฮเปอร์อย่างไร? เราขอสรุปออกมาเป็น 5 วิธี ดังต่อไปนี้

5 วิธีรับมือเด็กไฮเปอร์อย่างเหมาะสม

1. กำหนดทิศทางในการใช้พลังงานของเด็ก

อาการของเด็กไฮเปอร์นั้นส่วนมากต้องการที่จะปลดปล่อยพลังงานอยู่ตลอด คุณพ่อคุณแม่ ลองมองหากิจกรรมสำหรับเด็กสมาธิสั้น หรือ วิธีที่เหมาะสมจะช่วยเสริมพัฒนาการของเขาได้ หากการที่เด็กไฮเปอร์มีพลังเหลือล้นในการทำกิจกรรมต่างๆ ให้เราหาสิ่งที่ตอบโจทย์เขา เพราะอย่าลืมว่า เด็กยังต้องการการได้เล่นอย่างอิสระเสรี
อาจจะเป็นเกม กีฬาหรือกิจกรรมที่ช่วยให้เด็กได้ใช้พลังงาน ใช้ร่างกาย ไปจนถึงใช้ความคิดสิ่งเหล่านี้เป็นหนทางหนึ่งที่ช่วยให้เด็กไฮเปอร์ได้ปลดปล่อยพลังของเขาออกมาอย่างเหมาะสม

2. พูดคุยกับลูก เปิดใจรับฟังลูกอย่างเข้าใจ

บ่อยครั้งที่การเป็นเด็กไฮเปอร์มักถูกมองว่าเป็นเด็กสมาธิสั้น ซุกซน อยู่ไม่นิ่ง วอกแวกง่าย หรือไม่ตั้งใจ จนทำให้บางครั้งเด็กไฮเปอร์ถูกมองเป็นเด็กไม่ดี ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่จริง คุณพ่อคุณแม่ ผู้ปกครองต้องเข้าใจว่าอาการเด็กไฮเปอร์ส่วนหนึ่ง เกิดจากคลื่นสมองที่ไม่เสถียร บางครั้งคลื่นสมองมีความถี่สูง เด็กจะมีพฤติกรรมซุกซน พูดมาก คิดเร็ว พูดเร็ว ส่งผลให้บางครั้ง เขาต้องลุกขึ้นยืน ขยับร่างกาย หรือปรับเปลี่ยนกิริยาอาการเพื่อทำให้พลังงานภายในตัวเขาถูกปลดปล่อยไปบ้างเพื่อที่ภายในตัวของเขาจะได้รู้สึกสงบลง

หากสังเกตว่าลูกอยู่ไม่นิ่งหรือมีอาการที่สังเกตแล้วว่าเป็นเด็กไฮเปอร์ คุณพ่อคุณแม่ควรมีการพูดคุยกับลูก เปิดใจรับฟังสิ่งที่ลูกพูดอย่างไม่ด่วนตัดสิน จะช่วยให้คุณพ่อคุณแม่ ผู้ปกครองเข้าใจเด็กมากขึ้น จากนั้นจึงค่อย ๆ วางแผนเพื่อหาทางรับมือกับเขาอย่างเหมาะสม ซึ่งการรับฟังลูกอย่างเข้าใจถึงสาเหตุต่าง ๆ นั้นสำคัญมาก เพราะจะช่วยให้ลูกไม่รู้สึกผิด สูญเสียความเชื่อมั่นในตัวเอง รู้สึกด้อยค่า หรือรู้สึกว่าการเป็นเด็กไฮเปอร์คือเด็กไม่ดี

3. ช่วยลูกให้รู้จักวิธีจัดการกับความรู้สึกของตัวเอง

เด็กที่มีอาการไฮเปอร์ สมาธิสั้น การจะจัดการกับความรู้สึกโกรธ เศร้า หรือวิตกกังวล ถือเป็นเรื่องยากสำหรับเขา แต่คุณพ่อคุณแม่ ผู้ปกครองต้องคอยสนับสนุนและช่วยให้เด็กรับมืออย่างเหมาะสม พร้อมทั้งสอนให้เขารู้ว่า สิ่งใดเหมาะสม หรือไม่เหมาะสม เพื่อช่วยให้เด็กได้เรียนรู้และเติบโตจากความรู้สึกที่เกิดขึ้นในตัวเขาเอง

4. ช่วยให้ลูกได้ผ่อนคลาย

คุณพ่อคุณแม่ควรลดเวลาการใช้เครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ มือถือ แท็บเล็ต ไปจนถึงการเลี้ยงดูลูกโดยการให้จ้องดูทีวีเป็นเวลานาน เพื่อเป็นการปรับพฤติกรรมให้เด็กที่มีอาการไฮเปอร์ สมาธิสั้นได้ออกไปวิ่งเล่น เจอธรรมชาติหรือสิ่งแวดล้อมที่ดี ให้เขาได้สูดหายใจเข้าอย่างเต็มปอด และหายใจออกอย่างผ่อนคลาย สิ่งวิธีเหล่านี้จะช่วยฝึกสมาธิลูกให้เขาได้ปรับระดับพลังงานในตัวเขาให้เหมาะสมขึ้นได้

5. พฤติกรรมบำบัด (Behavior Therapy)

พฤติกรรมบำบัดคือรูปแบบการบำบัดรักษา เพื่อปรับเปลี่ยนและส่งเสริมพฤติกรรมที่เหมาะสมให้คงอยู่อย่างต่อเนื่อง วิธีที่ง่ายที่สุดคือการ ‘ให้รางวัล’ เมื่อลูกประพฤติตัวดี เมื่อเขาเชื่อฟัง หรือสามารถปฏิบัติกิจวัตรประจำวันได้เป็นอย่างดี และควรทำอย่างต่อเนื่อง เพราะวิธีการรับมือเด็กไฮเปอร์ที่ดีที่สุดในฐานะของพ่อ แม่ ผู้ปกครอง คือการเข้าไปมีส่วนร่วม รับรู้วิธีคิด จิตใจ และร่างกายของลูก เพื่อวางแผนจัดการกับพลังงานในตัวลูกอย่างเหมาะสม

นอกจาก 5 วิธีรับมือกับเด็กไฮเปอร์แล้ว การใช้ ‘เกมหรือกิจกรรมที่เหมาะสมสำหรับเด็กสมาธิสั้น เด็กไฮเปอร์’ ก็ถือเป็นสิ่งสำคัญอีกอย่าง ที่ช่วยเสริมพัฒนาการของเด็กได้อย่างมีประสิทธิภาพ และกิจกรรมสำหรับเด็กสมาธิสั้นที่เราเลือกมานำเสนอคุณพ่อคุณแม่ ผู้ปกครอง มี 7 กิจกรรมดังต่อไปนี้

7 กิจกรรมช่วยเสริมพัฒนาการได้อย่างมีประสิทธิภาพ

1. คาราเต้ หรือศิลปะการป้องกันตัว

คาราเต้หรือศิลปะการป้องกันตัว เป็นกิจกรรม ‘มือเปล่า’ ที่จะช่วยให้เด็กไฮเปอร์ เด็กสมาธิสั้นได้เรียนรู้วิธีการปลดปล่อยพลังงานในตัวอีกแบบหนึ่งโดยไม่มีอุปกรณ์หรือสิ่งที่จับต้องได้เข้ามาเกี่ยวข้อง ที่สำคัญคือจะช่วยฝึกให้เด็กไฮเปอร์จดจ่อ มีสมาธิ และจิตใจสงบนิ่งได้เป็นอย่างดี สิ่งเหล่านี้จะช่วยเสริมพัฒนาการของเด็กได้ ทั้งเรื่องความมั่นใจ สมาธิ และทักษะการป้องกันตัวที่อาจจำเป็นในอนาคต

2. กีฬา หรือกิจกรรมกลางแจ้ง

ฟุตบอล วอลเลย์บอล บาสเก็ตบอล หรือแบดมินตัน เป็นกีฬาที่ดีต่อเด็กไฮเปอร์และเด็กสมาธิสั้นเป็นอย่างมาก เพราะกิจกรรมเหล่านี้จะไม่มีเวลาว่างให้เขาได้อยู่เฉยๆ แถมเด็กจะได้ฝึกฝนและพัฒนาร่างกายไปพร้อมๆ กับการฝึกสมาธิเด็ก ความสามัคคี การมีส่วนร่วม และการเข้ากับสังคม

3. เล่นดนตรี

การเล่นดนตรี คืออีกหนึ่งกิจกรรมที่ดีของเด็กที่มีอาการไฮเปอร์ เพราะการเล่นดนตรีช่วยให้สมองได้ทำงานทั้งสองซีก ด้านหนึ่งจะช่วยให้เด็กได้มีสมาธิ จิตใจสงบ แต่ก็ยังช่วยให้เด็กได้เรียนรู้ทักษะอื่นๆ อย่างการเล่นดนตรี จดจำตัวโน๊ต ทักษะการจับจังหวะ และการทำงานเป็นทีม (เมื่อเล่นในวงตรี) ไปด้วยในเวลาเดียวกัน

4. ว่ายน้ำ

การว่ายน้ำเป็นกิจกรรมที่ดีมาก ที่จะช่วยฝึกเด็กไฮเปอร์ให้มีระเบียบวินัย อีกทั้งยังเป็นกีฬาที่ช่วยทำให้สูงอีกด้วย ตัวอย่างที่น่าสนใจคือ ไมเคิล เฟ็ลปส์ (Michael Phelps) เป็นนักกีฬาว่ายน้ำเจ้าของเหรียญทองโอลิมปิก ซึ่งถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรคสมาธิสั้น (ADHD – Attention Deficit Hyperactive Disorder) ตั้งแต่อายุ 9 ขวบ แต่ครอบครัวของเขาได้สอนให้เขารู้จักและเริ่มเล่นกีฬาว่ายน้ำมาเรื่อยๆ จนกลายเป็นนักกีฬาคนหนึ่งที่ประสบความสำเร็จที่สุดในโลกในวงการกีฬาว่ายน้ำ นี่คือตัวอย่างที่ชัดเจนว่าเด็กไฮเปอร์ไม่ใช่เด็กที่ไม่เก่ง เด็กไฮเปอร์ฉลาดและประสบความสำเร็จก็สามารถเกิดขึ้นได้เช่นกัน

5. ละครเวที

การทำละครเวที เป็นกิจกรรมที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ พลังงาน และการทำงานเป็นทีม ละครเวทีจะช่วยให้เด็กไฮเปอร์ได้ฝึกทักษะการจดจำที่เฉียบแหลม ความมั่นใจ และมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี แถมยังฝึกให้เขามีทักษะการพูดในที่สาธารณะอีกด้วย

6. กิจกรรมเกี่ยวกับธรรมชาติ

กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับธรรมชาติ เป็นกิจกรรมที่มีวิธีจัดการและรับมือกับพลังงานที่มากของเด็กไฮเปอร์ได้ในแบบฉบับของแต่ละกิจกรรม และขอให้มั่นใจว่า ‘กิจกรรมธรรมชาติคือสิ่งที่ดีสำหรับเด็ก’ ไม่ว่าจะเป็นการเทรกกิ้ง เดินป่า ปีนผา หรือพายเรือ สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้เด็กไฮเปอร์ได้ปลดปล่อยพลังงานอันล้นเหลือของเขา แถมยังช่วยให้เขาได้เรียนรู้ทักษะที่จำเป็นในธรรมชาติอีกด้วย

7. เกมที่ต้องใช้ความคิด

เกมที่ต้องใช้ความคิดอย่าง สแคร็บเบิล หมากรุก เกมจับคู่ และอีกมากมาย เกมเหล่านี้จะช่วยให้สมองได้ออกกำลังกาย และยังเป็นกิจกรรมที่ทำให้เด็กไฮเปอร์ เด็กสมาธิสั้นได้ฝึกการนั่งอยู่กับที่และจดจ่อกับสิ่งตรงหน้าได้เป็นอย่างดี

อย่างไรก็ตาม ‘อาการเด็กไฮเปอร์’ เป็นหนึ่งในอาการอีกมากมายที่สามารถเกิดขึ้นได้กับเด็ก คุณพ่อคุณแม่ ผู้ปกครองควรเอาใจใส่ และเปิดใจรับฟังอย่างเข้าใจ แล้วจะรู้ว่าเราสามารถสนับสนุนพวกเขาให้พัฒนา เติบโตอย่างสมวัยและมีความสุขได้ ท้ายที่สุดเมื่อเขาโตขึ้น จงอยู่เคียงข้างให้กำลังใจเขาเสมอว่า ทุกคนมีคุณค่าและสามารถใช้ชีวิตอย่างมีความสุขได้ในแบบของตัวเอง