6 วิธีสังเกตและเลี้ยงลูกให้ค้นพบความสามารถพิเศษด้านต่าง ๆ ในแบบของตัวเอง 21-M_Lot2.jpg

6 วิธีสังเกตและเลี้ยงลูกให้ค้นพบความสามารถพิเศษด้านต่าง ๆ ในแบบของตัวเอง

เป็นเหมือนกันไหมที่บางทีเราส่องโซเชียลมีเดียแล้วรู้สึกว่า ทำไมลูกคนอื่นเขาดูมีพรสวรรค์ มีความสามารถพิเศษด้านต่าง ๆ กัน หรือดูเก่งกว่าลูกเราทั้งที่อยู่ในวัยเดียวกัน

ในฐานะพ่อแม่ยุคใหม่ เราอยู่ในยุคที่การทำความเข้าใจลูกในแบบที่เขาเป็นคือหัวใจสำคัญของการเลี้ยงลูก เพราะเรารู้ว่าการเปรียบเทียบนอกจากจะสร้างความกดดันให้กับลูกแล้ว ยังอาจทำให้ลูกกังวลมากจนเกินไป ซึ่งจริง ๆ แล้วพรสวรรรค์หรือความสามารถพิเศษของลูกนั้นมีได้หลายด้านที่ไม่ใช่แค่เรื่องของการเรียนอย่างเดียว แต่ยังมีมุมอื่น ๆ ที่คุณแม่สามารถสังเกตลูกเพื่อค้นพบศักยภาพที่แท้จริงของตัวลูกเอง มาลองดู 6 ลักษณะของเด็กที่มีความสามารถพิเศษด้านต่าง ๆ กัน

6 ทักษะความสามารถพิเศษด้านต่างๆ ของเด็ก

1. ด้านมนุษย์สัมพันธ์

เด็กกลุ่มนี้จะมีมนุษยสัมพันธ์ดีเยี่ยม ชอบทำงานร่วมกับคนอื่น และมีความสามารถในการเป็นผู้นำสูง สามารถนำผู้อื่นได้ดี สนใจความรู้สึกและมักเห็นอกเห็นใจคนอื่น

2. ด้านตรรรกะ

เด็กกลุ่มนี้มีความสามารถในการนำตรรกะมาแก้ปัญหา เมื่อเผชิญสถานการณ์ที่ซับซ้อน เด็กสามารถแยกแยะ จัดลำดับและเข้าใจรูปแบบของสิ่งที่เกิดขึ้น

3. ด้านร่างกาย

เด็กกลุ่มนี้จะตอบสนองต่อสิ่งเร้าทางกายภาพได้ดี เป็นเด็กที่แข็งแรง สามารถทำกิจกรรมและเคลื่อนไหวได้อย่างแคล่วคล่องว่องไว

4. ด้านการเข้าใจตนเอง

เด็กกลุ่มนี้จะเชื่อมั่นในความสามารถของตน และมีแรงจูงใจในการทำสิ่งต่าง ๆ จะเก่งในการทำงานให้ไปถึงเป้าหมายชัดเจนว่าตนเองชอบหรือไม่ชอบอะไร

5. ด้านภาษา

เด็กกลุ่มนี้สามารถเรียนรู้คำศัพท์ใหม่ๆ ได้อย่างรวดเร็ว พวกเขาสนุกกับการต่อคำศัพท์ จำและคิดเป็นภาษาหรือคำศัพท์ สามารถอธิบายเรื่องที่เกี่ยวกับตนเองได้ดี

6. ด้านดนตรี

เด็กกลุ่มนี้จะว่องไวต่อเสียง สามารถเชื่อมโยงระหว่างเพลงและเครื่องดนตรีได้ พวกเขาซึมซับและจดจำข้อมูลเป็นแบบแผน บทกลอน หรือคำคล้องจอ

จาก 6 ลักษณะเด่นนี้ สิ่งที่พ่อแม่ควรทำคือ จับมือเรียนรู้ไปพร้อมกับลูก ค่อย ๆ สังเกตเขา อย่ารีบให้ลูกต้องมีลักษณะเด่นให้ครบทั้งหมด บางเรื่องอาจจะเห็นได้ชัดเจน แต่บางเรื่องต้องใช้เวลาแต่ก็คุ้มค่า เพราะเราจะเข้าใจเขามากขึ้นทีละนิด และลูกเองก็จะเติบโตตามพัฒนาการ โดยไม่มีแรงกดดันจากความคาดหวังของเรา

เราลองมาเปลี่ยนความคิดกันดีกว่าไหม แทนที่จะคิดว่าลูกเราต้องเก่งแบบคนอื่น ลองมาเรียนรู้ไปพร้อมกับลูกอย่างใจเย็นและไม่กดดัน คอยสนับสนุนในสิ่งที่เขาต้องการ เพื่อส่งเสริมให้เขาได้ค้นพบความสามารถพิเศษด้านต่าง ๆ ในแบบของตัวเอง ไม่แน่ สิ่งที่พิเศษในตัวลูกคุณอาจทำให้เขาเป็นเด็กที่มีความสามารถพิเศษที่ไม่ซ้ำกับใครเลยก็ได้

หากพร้อมที่จะเรียนรู้ไปกับลูกในแนวทางนี้แล้ว เรามี 6 วิธีสังเกตและเลี้ยงลูกมาฝากกัน เพื่อเป็นแนวทางสำหรับคุณพ่อคุณแม่ทุกคน

6 วิธีเลี้ยงลูกให้ค้นพบความสามารถพิเศษด้านต่าง ๆ ในแบบของตัวเอง

1. เข้าใจลูกในแบบที่เขาเป็น

ไม่ใช่เรื่องผิดที่คนเป็นพ่อแม่จะมีฝันที่ยิ่งใหญ่ มองอนาคตไกลให้ลูก แต่สิ่งที่สำคัญกว่านั้นคือการแยกระหว่างความฝันและความเป็นจริง แล้วมองลูกของเราผ่านเลนส์ของความเป็นจริงและเลนส์ของเราเอง นอกจากนี้การเปรียบเทียบความสามารถพิเศษด้านต่าง ๆ ของลูกเรากับลูกคนอื่นคือจุดเริ่มต้นของการมองผ่านเลนส์ของคนอื่น และจะทำให้เราไม่ได้เห็นข้อดีของลูกเท่าที่ควร

สมมติว่า คะแนนสอบวิชาภาษาอังกฤษของลูกไม่ค่อยดี ก็อย่าเพิ่งรีบตัดสินว่าลูกไม่เก่งภาษาอังกฤษ แต่ลองสังเกตให้ลึกกว่านั้นไหมว่า เขาอาจจะเคอะเขินแค่การพูด แต่พอเขียนออกมาเป็นตัวหนังสือ เขาสามารถถ่ายทอดออกมาได้ดีกว่า และอาจจะใช้ศัพท์ได้สละสลวยกว่าภาษาพูดเสียอีก เพียงเท่านี้ถึงเราจะยังบอกไม่ได้ว่าลูกมีพรสวรรค์ด้านการเขียน แต่อย่างน้อยที่สุด เราจะไม่ตัดสินว่าลูกเราไม่เก่งภาษาอังกฤษ

2. สังเกตเรื่องที่ไม่ได้จำกัดอยู่ในห้องเรียน

ความสามารถพิเศษด้านต่าง ๆ ของลูกนั้นไม่ได้จำกัดอยู่แค่ความสามารถในห้องเรียนเท่านั้น เพราะฉะนั้นเป็นโอกาสดีที่สุดของคุณพ่อคุณแม่แล้วที่จะสังเกตลูกยามอยู่นอกห้องเรียน

บางเรื่องอาจจะเป็นเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่เป็นเรื่องที่ลูกมีรูปแบบในการทำอย่างสม่ำเสมอ ก็อาจบอกได้ถึงความสนใจของเขา อย่างเช่นถ้าเวลาเราเข้าครัวทำอาหาร ลูกมักจะอาสาเข้ามาช่วย ถามถึงส่วนผสมต่าง ๆ และช่วยเตรียมอาหารในส่วนที่เขาทำได้ บ่อยครั้งเข้าอาจจะขอลองทำเมนูง่ายๆ ถ้าเป็นแบบนี้ เราก็พอบอกได้ว่า ลูกมีความสนใจในเรื่องการทำอาหาร และดูว่ามีอะไรที่เราช่วยสนับสนุนเขา ทำให้ศักยภาพด้านนี้ของเขาชัดเจนขึ้นได้ ก็เป็นโอกาสที่ทำให้เขารู้ตัวเองว่าเป็นเด็กที่มีความสามารถพิเศษด้านการทำอาหารและสนใจมากเป็นพิเศษ

หรือเวลาไปสวนสาธารณะด้วยกัน ลูกมักจะถามชื่อต้นไม้ต่าง ๆ และจำชื่อต้นไม้ได้แม่นตั้งแต่ครั้งแรกที่ถาม บอกความแตกต่างระหว่างต้นไม้ต่าง ๆ ได้ ความสนใจของลูกเรื่องนี้อาจนำไปสู่การค้นพบว่าตัวเขาเองก็เป็นเด็กที่มีความสามารถพิเศษที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ได้เหมือนกัน หลังจากนี้ก็เป็นเรื่องที่คุณพ่อคุณแม่ต้องช่วยสนับสนุนความสามารถเหล่านี้ของลูกให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้นต่อไป

3. ให้อิสระกับลูก

เราเข้าใจดีว่า หลายคนอาจจัดตารางกิจกรรมนอกเวลาเรียนจนแน่นด้วยความปรารถนาดี อยากให้ลูกได้ค้นพบศักยภาพในตัวเองผ่านกิจกรรมต่าง ๆ เหล่านี้ แต่บางครั้งตารางกิจกรรมที่แน่นเกินไปอาจไม่เหลือช่องว่างให้เด็กได้ค้นพบความถนัดหรือความสามารถพิเศษด้านต่าง ๆ ของเขาด้วยตัวเอง

ลองจัดตารางแต่ละวันของลูกให้ยืดหยุ่นมากขึ้น ให้เขาได้มีเวลาคิดกิจกรรมที่ตัวเองอยากทำ ได้สำรวจอะไรใหม่ๆ ที่ไม่ได้อยู่ในตาราง และได้มีเวลา ‘เล่น’ เพราะสำหรับเด็กวัยเรียน การเล่นก็คือการเรียนรู้รูปแบบหนึ่ง การให้พื้นที่กับลูกอาจทำให้ลูกได้ค้นพบความถนัดของตัวเองที่อาจพัฒนามาเป็นความสามารถพิเศษได้

4. อย่าให้ลูกเป็นคนแบกรับความฝันและความคาดหวังของเรา

งานวิจัยหลายชิ้นบ่งชี้ว่า เด็กที่มีความสามารถพิเศษส่วนหนึ่งค้นพบตัวเองในตอนเรียนมัธยม ไม่ใช่ตอนประถม เพราะฉะนั้นถ้าลูกคนอื่นเรียนดนตรีและขึ้นแสดงได้ตั้งแต่เริ่มเข้าวัยเรียน ไม่ได้หมายความว่าลูกของเราที่เริ่มเรียนพร้อมกันจะต้องทำแบบเดียวกันกับเขาได้ การได้เห็นลูกอยู่บนเวทีอาจเป็นความฝันของพ่อแม่มากกว่าความฝันของลูกเอง

“เด็กไม่ใช่ผ้าสีขาว แต่เป็นสีพื้น เพราะเด็กทุกคนล้วนมีคุณค่า มีความสามารถที่ต่างกัน หมายความว่า เด็กทุกคนล้วนมีความสามารถต่างกัน ผู้ปกครองและครูอาจารย์ควรส่งเสริมในสิ่งที่เด็กคนนั้นถนัดให้มากที่สุด และเติมเต็มในสิ่งที่เขาขาด เราพบว่าบางครั้งเด็กที่มีความสามารถในด้านหนึ่งเป็นพิเศษมักจะอ่อนวิชาการใช้ชีวิต ดังนั้นผู้ใหญ่ต้องวางธงว่า เด็กอยู่บนพื้นฐานที่ต่างกัน อย่าเลี้ยงลูกแบบเปรียบเทียบ เด็กทุกคนไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน เปิดโอกาสให้เขาเล่น ให้ได้รังสรรค์ จะต้องไม่มีเด็กหน้าห้อง เด็กหลังห้อง”

ข้อความข้างต้นคือคำกล่าวของ รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านเด็กและวัยรุ่น ที่สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพของเด็กได้เป็นอย่างดี เพราะหน้าที่อย่างหนึ่งของพ่อแม่คือการสนับสนุนความพร้อมด้านต่าง ๆ ให้ลูก แต่อย่าลืมว่าหน้าที่อีกอย่างของเราก็คือ ‘รู้จักบริหารความคาดหวังของตัวเอง’ ไม่ให้ลูกต้องเป็นคนแบกรับความคาดหวังเหล่านี้จนทำให้ลูกไม่ได้สนุกกับกิจกรรมต่าง ๆ เท่าที่ควร เพราะห่วงแต่ผลลัพธ์ว่าพ่อแม่จะรู้สึกอย่างไร ให้เขาได้สนุกกับกิจกรรมที่ทำอย่างเต็มที่

เมื่อถึงเวลาหนึ่ง เราอาจจะบอกได้เองว่ากิจกรรมนั้นเป็นงานอดิเรกที่เขาชอบ หรือเป็นความสามารถพิเศษด้านต่าง ๆ ที่เขาแสดงออกได้โดดเด่นกว่าคนอื่น

5. ปลูกฝังแนวคิดในการเปิดกว้างสำหรับการเรียนรู้

การปลูกฝังแนวคิดที่เปิดกว้างสำหรับการเรียนรู้หรือ growth mindset จะช่วยทำให้ลูกกล้าคิด กล้าทำ กล้าลองอะไรใหม่ ๆ ซึ่งเท่ากับเป็นการเปิดโอกาสให้เด็กได้ค้นพบเรื่องที่มีแพสชันได้ง่ายขึ้น

สำคัญคือคุณพ่อคุณแม่ต้องไม่ยึดติดว่าแพสชันของลูกเราต้องเป็นเรื่องเดียวกับลูกคนอื่น นั่นหมายถึงว่าก่อนจะปลูกฝังแนวคิดนี้ให้กับลูก ตัวเราเองต้องเปิดใจให้กับแนวคิดนี้ก่อน

6. เรียนรู้จังหวะในการดูแลที่สอดคล้องกับพฤติกรรมลูก

การสังเกตพฤติกรรมของลูกนั้นมีประโยชน์ไม่ใช่แค่การที่เราจะบอกว่า ลูกสนใจเรื่องใดและจะสนับสนุนลูกในแนวทางใด แต่การสังเกตยังช่วยให้คุณพ่อคุณแม่เรียนรู้ว่า จังหวะไหนที่ควรจะผลักดันลูกในแบบที่เป็นการให้กำลังใจ แต่ไม่ได้สร้างความกดดันให้กับเด็กให้ลูกได้รู้ว่า ก้าวต่อไปแม้จะยาก แต่ทุกคนในครอบครัวเป็นกำลังใจให้เขาอยู่

หรือบางครั้งหากสังเกตได้ว่าลูกดูมีความกดดันเกินไปจนไม่มีความสุข แม้จะเป็นกิจกรรมหรือเรื่องที่ต้องใช้ความสามารถพิเศษด้านต่าง ๆ ที่เขาเคยชอบ คุณพ่อคุณแม่อาจปรึกษาครูหรือโค้ชที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมนั้น ๆ แล้วอาจจะคุยกับลูก เปิดทางให้เขาตัดสินใจได้เองว่า อยากจะพักจากกิจกรรมนั้น ๆ ได้ถ้าเขาต้องการ การพักของลูกอาจทำให้ลูกได้ค้นพบว่าตัวเองมีความสนใจเรื่องอื่นมากกว่า หรืออาจทำให้เขาตระหนักได้ว่ารักในกิจกรรมนั้นขนาดไหน และกลับไปทุ่มเทมากกว่าเดิมได้โดยไม่ต้องมีใครบังคับหรือกดดัน

การสังเกต ความเข้าใจ และการปรับเปลี่ยนวิธีการเลี้ยงให้เหมาะสมกับลูก คือหัวใจในการเลี้ยงลูกยุคนี้ให้เขาเติบโตอย่างมีความสุขและค้นพบความชอบของตัวเอง หลีกเลี่ยงการกดดันลูก ให้คำนึงไว้เสมอว่า เด็กทุกคนเป็นเด็กที่มีความสามารถพิเศษในแบบของตัวเอง มีความสนใจต่างกันและการค้นพบความสามารถพิเศษด้านต่าง ๆ ที่ซ่อนอยู่ในตัวเองนั้นไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นพร้อมกันเสมอไป

การดูแลเขาด้วยความเข้าใจและพร้อมสนับสนุนในยามที่เขาต้องการ จะมีส่วนช่วยให้ลูกได้ค้นพบความถนัดของตัวเองเมื่อถึงเวลา คุณพ่อคุณแม่สามารถอ่านบทความการเลี้ยงลูกเพิ่มเติมได้ที่
- เลี้ยงลูกให้ฉลาดเป็นคนดี
- วิธีสอนลูกให้เข้มแข็งด้วย resilience
- วิธีรับมือลูกติดเกม