9 วิธีแก้ปัญหา 'ภาวะเด็กเครียด' ฉบับคุณแม่เอาอยู่ “เป็นเด็กก็เครียดได้ไม่ต่างจากผู้ใหญ่” 9 วิธีแก้ปัญหา 'ภาวะเด็กเครียด' ฉบับคุณแม่เอาอยู่ “เป็นเด็กก็เครียดได้ไม่ต่างจากผู้ใหญ่”

9 วิธีแก้ปัญหา 'ภาวะเด็กเครียด' ฉบับคุณแม่เอาอยู่ “เป็นเด็กก็เครียดได้ไม่ต่างจากผู้ใหญ่”

เลี้ยงลูกอย่างไร ไม่ให้เครียด 9 วิธีแก้ปัญหาฉบับคุณแม่เอาอยู่

 

‘ภาวะโรคเครียด’ เกิดขึ้นได้กับทุกคน ทุกเพศ ทุกอาชีพ รวมไปถึงคนทุกวัย ‘เด็ก’ ก็ไม่ใช่ข้อยกเว้นจากโรคนี้ด้วยเช่นกัน เด็กเครียดได้ไม่แตกต่างจากผู้ใหญ่อย่างเรา ๆ เพียงแต่เด็กยังไม่สามารถแสดงความเครียดนั้นออกมาได้มากเท่าที่เขารู้สึก นั่นจึงทำให้วิธีการแสดงออกของเด็กที่มีภาวะเครียดนั้นแตกต่างไปจากผู้ใหญ่ เพราะพวกเขายังต้องเรียนรู้วิธีอีกมากมายเพื่อที่จะแสดงความเครียดนั้นออกมา แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าลูกของเรามีภาวะเครียดอยู่หรือเปล่า คุณพ่อคุณแม่จะมีวิธีป้องกันได้อย่างไร แล้วจะเลี้ยงลูกอย่างไรไม่ให้เครียด? ก่อนอื่น เราคงต้องไปทำความรู้จักกับสาเหตุของความเครียดที่เกิดขึ้นกับเด็กกันก่อน

สาเหตุที่ทำให้เด็กเครียด

 

ต้นตอหรือสาเหตุที่ทำให้เด็กเครียดนั้น มาจากปัจจัยหลักอยู่ 3 อย่างด้วยกันคือ

1. กรรมพันธุ์

อาจเป็นเพราะที่คุณพ่อคุณแม่มีนิสัยเครียดหรือเป็นโรคเครียด มีส่วนที่ทำให้ลูกมีโอกาสเป็นโรคเครียดได้ด้วยเช่นกัน

2. สภาพแวดล้อม

ต่อมาคือสภาพแวดล้อมปัจจัยนี้ถือเป็นส่วนสำคัญมากที่ก่อให้เกิดความเครียดในเด็กได้ และส่วนใหญ่มักมาจากปัญหาในครอบครัว ความคาดหวังของคุณพ่อคุณแม่ ไปจนถึงความกดดันที่ลูกสัมผัสได้ผ่านการอบรมเลี้ยงดู

3. ฮอร์โมนส์ที่เปลี่ยนแปลงของเด็ก

โดยเฉพาะในเด็กที่กำลังก้าวเข้าสู่วัยรุ่น ซึ่งสามารถแบ่งย่อยออกเป็นสองกลุ่มด้วยกัน คือ เครียดจากปัจจัยภายนอก และเครียดจากปัจจัยภายใน 

สาเหตุจากปัจจัยภายนอก

- การบ้านเยอะ
- ลูกเครียดเรื่องเรียน
- ความขัดแย้ง (ความขัดแย้งของคนในครอบครัวหรือความขัดแย้งกับเพื่อน)
- การย้ายที่อยู่อาศัย หรือสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป

สาเหตุจากปัจจัยภายใน

- วิตกกังวล
- คิดมาก
- คิดว่าตัวเองไม่เก่ง
- คิดว่าไม่มีใครรัก
- สารเคมีในสมองไม่เท่ากัน

สังเกตภาวะเด็กเครียดได้อย่างไร

 

คุณพ่อคุณแม่ ผู้ปกครองต้องทำความเข้าใจก่อนว่า เด็กยังไม่สามารถแสดงออกอารมณ์ ความรู้สึก รวมไปถึงความเครียดของเขาออกมาได้ชัดเจนและครบถ้วนเท่าผู้ใหญ่ นั่นจึงทำให้ความเครียดก่อตัวและถูกแสดงออกมาได้หลายแบบ เช่น มีอาการปวดหัว ร้องไห้ วิตกกังวล หงุดหงิด เบื่อ เด็กไม่อยากกินข้าว เศร้า และขาดสมาธิ ซึ่งอาจส่งผลต่อเนื่องไปถึงเรื่องการเรียนของลูกได้ ดังนั้นพ่อแม่ควรสังเกตพฤติกรรมและการแสดงออกที่บ่งบอกถึงภาวะเด็กเครียดอยู่เสมอ

9 วิธีป้องกันไม่ให้ “เด็กเครียด” ฉบับคุณแม่เอาอยู่

 

จะสามารถแบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลักคือส่วนของพฤติกรรมของพ่อแม่ และวิธีการสอนลูกในรูปแบบต่าง ๆ ในบทความนี้จะมี 9 วิธีที่ให้คุณแม่สามารถนำไปปรับใช้กับลูกได้ทันที

1. การรับฟังลูก

ถ้าหากถามว่ามีวิธีเลี้ยงลูกอย่างไรให้มีความสุขไม่ให้เครียดหรือป้องกันไม่ให้ลูกเครียด คุณพ่อคุณแม่ควรเริ่มจากหมั่นสังเกตอาการและพฤติกรรมของลูกว่าเขาเปลี่ยนไปจากบุคลิกปกติของเขาหรือไม่ ควรรับฟังความคิดเห็นของลูก พูดคุยกับลูก ไม่ว่าเรื่องที่เขาเล่าอาจจะดูเล็กน้อยสำหรับผู้ใหญ่แค่ไหนก็ตาม

2. อย่ากดดันลูกจนเกินไป

ดยเฉพาะในเรื่องการเรียน เพราะเมื่อลูกเครียดเรื่องเรียนอยู่แล้ว แล้วต้องมาเจอความกดดันจากพ่อแม่ที่โยนความคาดหวังและความกดดันมหาศาลมาให้ลูกอีกก้อน จิตใจของลูกจะยิ่งไม่สู้ดี จนอาจทำให้เขาเอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับเด็กคนอื่นจนเกิดเป็นความกดดันอีกทอดหนึ่งตามมาได้ แน่นอนว่าทั้งความหวังดีและความคาดหวังที่คุณพ่อคุณแม่ต้องการมอบให้ลูกนั้นคือสิ่งที่จะช่วยให้เขาเติบโตไปได้อย่างมีคุณภาพ แต่อย่าลืมนึกถึงจิตใจของเขาเป็นอันดับแรก เพราะการที่เด็กเครียดนั้นอาจเกิดจากความคาดหวังและกดดันที่มากเกินไป พลอยแต่จะส่งผลเสียให้กับผู้ที่จะต้องแบกรับความกดดันนั้น ซึ่งในบริบทนี้คือลูกของเราเอง คุณพ่อคุณแม่ควรชั่งน้ำหนักและบริหารความหวังดีของตัวเองให้เหมาะสม ก่อนที่จะมอบให้ลูกอย่างเข้าอกเข้าใจ เพื่อไม่ให้ลูกเกิดความเครียด

3. อย่าดุด่าหรือตีลูก

ในกรณีนี้หากเด็กมีความอ่อนไหวทางอารมณ์ หรือเป็นคนที่มีความรู้สึกอ่อนไหว สิ่งนี้อาจทำให้เกิดปมในใจของเด็กได้ว่า พ่อแม่ไม่รักเขา จนอาจทำให้เขามีอาการต่อต้านคุณพ่อคุณแม่ได้ ทางที่ดีที่สุดคือ ‘ตั้งสติ’ และใช้เหตุผลกับลูกให้มากที่สุด ควรเลิกเพิกเฉยต่อพฤติกรรมหรือการแสดงออกของเขาอย่างสมเหตุสมผล เพราะบางครั้งสิ่งที่ลูกต้องการอาจไม่ใช่แค่ความสนใจจากพ่อแม่ แต่เข้าอาจต้องการความเข้าอกเข้าใจด้วยเช่นกัน

4. ใช้เวลากับลูกให้บ่อย เข้าอกเข้าใจลูกให้มาก

คุณพ่อคุณแม่ควรหาเวลาทำกิจกรรมร่วมกับลูก หรือทำกิจกรรมร่วมกันเป็นครอบครัว เพื่อสานความสัมพันธ์ระหว่างครอบครัวให้แน่นแฟ้น เมื่อลูกรู้สึกปลอดภัยที่จะพูดคุยหรือระบายความในใจให้คุณพ่อคุณแม่ฟังแล้ว
คุณพ่อคุณแม่ควรรับฟังเรื่องเหล่านั้นไม่ว่าลูกเครียดเรื่องเรียน ปัญหาที่โรงเรียน หรือปัญหาอื่น ๆ ก็ตาม เมื่อนั้นคอยจังหวะที่เราจะได้ให้คำปรึกษาแก่ลูก และเข้าใจสภาพจิตใจและภาวะของลูกนั่นเอง ดู กิจกรรมเล่นกับลูก เพิ่มเติมได้ที่นี่

5. สอนให้ลูกรู้จักการตระหนักรู้ในตัวเอง

การตระหนักรู้ในตัวเอง หมายถึงความสามารถในการเข้าใจ รับรู้ความรู้สึกของตัวเอง ซึ่งสำคัญมาก หากคุณพ่อคุณแม่สามารถสอนให้ลูกค่อยๆ หัดทำความเข้าใจต่อความต้องการของตัวเอง รับรู้และแยกแยะความรู้สึกของตัวเองได้ ความตระหนักรู้นี้จะช่วยให้เด็กเติบโตอย่างมีเหตุผล รักตัวเอง มองเห็นข้อดีในตัวเอง มองเห็นจุดที่ยังสามารถพัฒนาเพิ่มเติมได้ และเข้าใจผลกระทบของการแสดงออกนั้น ๆ ได้ว่าส่งผลต่อผู้อื่นอย่างไรบ้าง

6. สอนให้ลูกรู้จักการควบคุมตัวเอง

นอกจากเข้าใจ รับรู้ความรู้สึกของตัวเอง และมองเห็นผลกระทบจากการแสดงออกของเราต่อผู้อื่นแล้ว การสามารถควบคุมและจัดการอารมณ์ของตัวเอง และสามารถแสดงออกได้อย่างเหมาะสม สิ่งนี้จะช่วยให้เด็กมีบุคลิกที่ยืดหยุ่นและสามารถปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงได้ดี เช่น เมื่อเด็กเครียด เขาจะเริ่มทำความเข้าใจต่อความรู้สึกเครียดที่เกิดขึ้นในตัวเขา ก่อนที่จะหาวิธีจัดการและแสดงออกมาได้อย่างเหมาะสม เขาอาจเลือกที่จะพูดคุย ปรึกษา หรือระบายกับคุณพ่อคุณแม่ แทนการตะโกนหรือแสดงอารมณ์โมโหร้าย ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพจิตของเด็กได้

7. สร้างแรงจูงใจให้ลูก

ฝึกให้ลูกมีแรงจูงใจจากภายใน (Intrinsic motivation) เต็มไปด้วยพลังที่ขับเคลื่อนจากภายใน มากกว่าการมีแรงจูงใจจากภายนอก ไม่ว่าจะเป็นชื่อเสียง เงินทอง การได้รับการยอมรับจากสังคม เป็นต้น
ซึ่งการมีแรงจูงใจนี้จะช่วยให้เขาสามารถตั้งเป้าหมายและลงมือทำจนสำเร็จ ไม่ยอมแพ้ต่ออุปสรรค ความยากลำบาก ประสบความสำเร็จและมีความสุขได้ในที่สุด

ซึ่งในบริบทของภาวะเด็กเครียดอาจสามารถยกตัวอย่างได้เช่น ‘ลูกเครียดเรื่องเรียน’ และไม่อยากอ่านหนังสือสอบแล้ว เพราะมองไม่เห็นว่าจะทำข้อสอบหรือได้เกรดที่ดีขึ้นได้ คุณพ่อคุณแม่อาจฝึกให้เขามองเรื่องการเรียนเป็นมากกว่าเรื่องของการทำเกรดให้ดี เปลี่ยนให้ลูกมีแรงจูงใจที่อยากจะสนุกกับการเรียน หรือการลงมือทำอย่างเต็มความสามารถ โดยไม่ต้องคำนึงถึงปัจจัยภายนอก และที่สำคัญคือ คุณพ่อคุณแม่ควรสนับสนุนเขาอย่างสุดความสามารถ และเติมกำลังกายใจ ให้เขารู้สึกว่าไม่ได้โดดเดี่ยวหรือต้องผ่านอุปสรรคนี้ไปโดยลำพัง

8. สอนให้ลูกรู้จักการเข้าอกเข้าใจผู้อื่น

การเข้าอกเข้าใจผู้อื่น คือความสามารถในการเข้าใจความรู้สึกของผู้อื่น และแสดงความใส่ใจเป็นพิเศษหากคนๆ นั้นรู้สึกไม่ดี กังวล หรือเศร้า เป็นต้น ความสำคัญในข้อนี้คือการหัดให้ลูกใส่ใจในการฟัง ฟังมากกว่าแค่คำพูด ฟังอย่างตั้งใจและหัดสังเกต ทั้งน้ำเสียงและภาษากาย ทั้งหมดนี้จะช่วยให้ลูกเข้าใจผู้อื่นได้ดีขึ้น และใส่ใจคนรอบข้างมากขึ้น

9. สอนให้ลูกมีทักษะในการอยู่ร่วมกับคนอื่น

การอยู่ร่วมกับคนอื่น คือความสามารถในการแสดงปฏิสัมพันธ์ มนุษยสัมพันธ์ที่ดีต่อคนรอบข้าง ถือเป็นสิ่งสำคัญมากหากลูกเติบโตไปอยู่ในสังคมที่ต้องพบปะผู้คนมากมายในอนาคต คุณพ่อคุณแม่สามารถฝึกให้ลูกพัฒนาทักษะการอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้ เช่น การเป็นผู้ฟังที่ดี การสื่อสารด้วยวัจนะภาษา อวัจนะภาษา และการให้เกียรติผู้อื่น เป็นต้น

“ความเครียดในเด็ก” ถือเป็นเรื่องสำคัญที่คุณพ่อคุณแม่ต้องเข้าใจและดูแลลูกอย่างใกล้ชิด ไม่ควรปล่อยปละละเลยเป็นอันขาด หมั่นทำความเข้าใจ เปิดใจและรับรู้ความรู้สึกนึกคิดของลูกอย่างแท้จริง โดยอาจใช้ช่วงเวลาทานอาหารเช้าก่อนไปโรงเรียนพูดคุยกับลูก ทั้งหมดนี้จะช่วยให้ลูกรู้สึกไม่กดดันมากจนเกินไป และเรียนรู้ที่จะจัดการความเครียดของเขาได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งจะทำให้เกิดผลดีต่อตัวเขาเอง ทั้งเรื่องอารมณ์ความรู้สึก การเรียน ไปจนถึงการดำเนินชีวิตวัยเด็กอย่างมีความสุขได้

Source :
https://www.vichaiyut.com/th/health/informations/พ่อแม่เข้ม-เด็กเครียด
https://new.camri.go.th/infographic/82
https://thestandard.co/podcast/thesecretsauce111/
https://www.kroobannok.com/24817